ประวัติศาสตร์เมืองกาฬสินธุ์เชื่อมโยงประวัติศาสตร์เมืองสหัสขันธ์
การตั้งเมืองกาฬสินธุ์
กลุ่มเจ้าโสมพะมิต อพยพจากกรุงศรีสัตนาคนหุต (ล้านช้างเวียงจันทร์) ข้ามลำน้ำโขงเข้าไปตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณบ้านผ้าขาว บ้านพันนา ในลุ่มแม่น้ำสงคราม กลุ่มนี้มีผู้นำหลายคน มีทั้งเชื้อพระวงศ์ ผู้นำทางศาสนาและกรมการเมือง ได้แก่ เจ้าโสมพะมิต ท้าวอุปชา เมืองแสนหน้าง้ำ เมืองแสนฆ้องโป่ง เป็นต้น ซึ่งสาเหตุของการอพยพในครั้งนี้เกิดจากขัดแย้งกับพระเจ้าศิริบุญสาร ผู้ครองนครเวียงจันทร์ ส่วนของเจ้าโสมพะมิตผู้เป็นหัวหน้ากลุ่มนั้นเป็นโอรสของพระเจ้าไชยองค์เว้ซึ่งเกิดกับหลานสาวของเจ้าผ้าขาว เกิดเมื่อราว พ.ศ.2245 ในนครเวียงจันทร์ เมื่อเติบโตขึ้นเข้ารับราชการในราชสำนักแห่งนครเวียงจันทร์ได้บรรดาศักดิ์เป็นพระยาซึ่งรับราชการอยู่จนอายุได้ 45 ปี จึงได้อพยพไพร่พลออกจากนครเวียงจันทร์ร่วมกับพระอุปชา เมืองแสนค้อนโป่งและเมืองแสนหน้าง้ำ ข้ามลำน้ำโขงมาตั้งชุมชนขึ้นที่บ้านผ้าขาวพันนา บริเวณใกล้พระธาตุเชิงชุมในเขตจังหวัดสกลนครในปัจจุบัน เจ้าโสมพะมิตได้ปกครองไพร่พลซึ่งขณะนั้นมีไพร่พลประมาณ 5,000 คนเศษ ทำราชการขึ้นต่อนครเวียงจันทร์ ประกอบกับเมืองแสนค้อนโปงและพระอุปชาได้ถึงแก่กรรมลง ส่วนเมืองแสนหน้าง้ำได้อพยพไพร่พล (ชาวเมือง) ของตนตามกลุ่มพระวอพระตาลงไปเมืองอุบลราชธานี ส่วนท้าวโสมพะมิตก็ได้อพยพไพร่พลของตนข้ามเทือกเขาภูพานไปอาศัยอยู่ที่บ้านกลางหมื่น (ปัจจุบันอยู่ในเขตตำบลกลางหมื่นอำเภอเมืองกาฬสินธุ์) ต่อมาเห็นว่าที่บ้านกลางหมื่นมีชัยภูมิไม่เหมาะสมสำหรับการอยู่อาศัยที่ถาวร จึงอพยพไปอยู่บริเวณแก่งสำโรง ชายคาสงเปือยริมแม่น้ำปาว ซึ่งเป็นที่ตั้งของจังหวัดกาฬสินธุ์ในปัจจุบัน เมื่อเจ้าโสมพะมิตตั้งถิ่นฐานบ้านเมืองมั่นคงที่แก่งสำโรงดงสงเปือยแล้ว เจ้าโสมพะมิตได้ลงไปกรุงเทพมหานครเพื่อเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชรัชกาลที่ 1 ขอพระราชทานตั้งเมืองทำราชการขึ้นตรงต่อกรุงเทพมหานคร
การขอพระราชทานตั้งเมือง
ชุมชนบ้านแก่งสำโรงดงสงเปือยเข้ามาอยู่ในเขตอิทธิพลทางการเมืองของกรุงเทพฯ ประมาณ 10 ปี ก่อนที่จะได้รับการยกฐานนะขึ้นเป็นเมือง เพราะมีหลักฐานเอกสารระบุชัดเจนว่า ในปี พ.ศ.2325 เจ้าโสมพะมิตได้ส่งบรรณาการ ได้แก่ น้ำรักสีผึ้ง นอแรด และงาช้างต่อกรุงเทพฯ โดยผ่านทางเวียงจันทร์ จนกระทั่งปี พ.ศ.2336 เจ้าโสมพะมิตได้ลงไปกรุงเทพฯ เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทขอพระราชทานตั้งเมืองจึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ยกฐานะบ้านแก่งสำโรงขึ้นเป็นเมืองกาฬสินธุ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึงโปรดให้เจ้าโสมพะมิตเป็นที่ พระยาไชยสุนทร (เจ้าเมือง) ขนานนามแก่งสำโรงขึ้นเป็นเมืองกาฬสินธุ์ ต่อมาพระยาไชยสุนทร (โสมพะมิต) เจ้าเมืองกาฬสินธุ์ชราอายุ 70 ปีเศษ หลงสติ จึงมอบราชการเมืองให้ท้าวหราแพงบุตรพระอุปชาเป็นผู้ว่าราชการงานเมืองกาฬสินธุ์ต่อมา
ธีระ พิมพะนิตย์ (2544) ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า เจ้าโสมพะมิตได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกพระเจ้าแผ่นดินกรุงสยาม พระองค์ได้โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมรับเครื่องบรรณาการคือ กาน้ำสีดำปั้นด้วยทองสัมฤทธิ์ และแต่งตั้งให้เจ้าโสมพะมิตเป็นพระยาโสมพะมิตองค์ที่1 มีบรรดาศักดิ์เป็นที่พระยาชัยสุนทรเจ้าเมืองกาฬสินธุ์ในปีนั้น แต่งตั้งเท้าคำหวาเป็นอุปฮาตแต่งตั้งท้าวธิติสาเป็นราชวงศ์ท้าวหมาพวงเป็นราชบุตร พระยาชัยสุนทร (เจ้าโสมพะมิต) มีอายุ 70 ปีเศษแล้วร่างกายไม่แข็งแรง ได้อาศัยท้าวหมาแพงผู้เป็นหลาน ซึ่งเป็นบุตรของเจ้าอุปชา (พระอนุชาที่วายชนม์ไปแล้วที่เมืองผ้าขาวพันนา) เป็นเจ้าเมืองแทนพระองค์
อำเภอสหัสขันธ์
อำเภอสหัสขันธ์ มีประวัติความเป็นมายาวนาน ก่อตั้งขึ้นเป็นชุมชนร่วมสมัยกับการก่อตั้งเมืองกาฬสินธุ์ ชื่อว่า “บ้านพันลำ” เมื่อ พ.ศ.2410 ตรงกับสมัยรัชการที่ 4 พระยาชัยสุนทร (ท้าวกิ่ง) เจ้าเมืองกาฬสินธุ์ ขอตั้งบ้านลำพันขึ้นเป็นเมืองสหัสขันธ์ โดยขึ้นตรงต่อเมืองกาฬสินธุ์ ต่อมา พ.ศ. 2425 เมืองสหัสขันธ์ได้ขอสมัครไปขึ้นกับเมืองกระมาลาไสย (กมลาไสย) (นิวัฒน์ พลูศรี,2521) เมื่อ พ.ศ.2431 แต่งตั้งให้อุปฮาดบัวจากเมืองกมลาไสยเป็นพระประชาชนบาล (บัว) เป็นเจ้าเมืองสหัสขันธ์และได้ย้ายที่ทำการเมืองไปตั้งอยู่ “บ้านโคก” ต่อมาราษฎรเมืองสหัสขันธ์ร้องทุกข์ต่อกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม กล่าวโทษพระประชาชนบาล (บัว) ให้ออกจากตำแหน่งเจ้าเมืองสหัสขันธ์และแต่งตั้งราชบุตรแสนรักษาเจ้าเมืองสหัสขันธ์ ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2433 ได้แต่งตั้งให้ท้าวขัติยวงศาเป็นพระประชาชนบาลเจ้าเมืองสหัสขันธ์ให้ขึ้นตรงต่อเมืองกมลาไสย (เติมวภาคย์พจนกิจ,2557)
ต่อมามีการปรับปรุงระบบการปกครองสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อ พ.ศ. 2452 ให้เมืองกาฬสินธุ์และเมืองกมลาไสยขึ้นกับมณฑลร้อยเอ็ด ต่อมายุบมณฑลร้อยเอ็ดไปขึ้นกับมณฑลนครราชสีมาหลังจากนั้นกาฬสินธุ์ถูกยุบเป็นอำเภอหลุบขึ้นตรงต่อจังหวัดมหาสารคามจนกระทั่งเมื่อ พ.ศ. 2490 ได้ยกฐานะกาฬสินธุ์เป็นจังหวัด กมลาไสยและสหัสขันธ์จึงเป็นอำเภอของจังหวัดกาฬสินธุ์และในปี พ.ศ.2510 อำเภอสหัสขันธ์ได้ย้ายที่ทำการอีกครั้งนึง เนื่องจากมีการสร้างเขื่อนลำปาวโดยย้ายจากตำบลโนนศิลาไปอยู่ที่ตำบลภูสิงห์ในปัจจุบัน
กล่าวโดยสรุป ปี พ.ศ.2410 ท้าวแสนได้พาสมัครพรรคพวกอพยพออกจากเมืองกาฬสินธุ์ไปตั้งที่บ้านโคกพันลำ แล้วขอพระราชทานตั้งเมือง โปรดเกล้าฯ ให้ยกบ้านโคกพันลำขึ้นเป็นเมืองสหัสขันธ์ โดยการแยกออกจากเมืองกาฬสินธุ์เนื่องจากเมื่อ พ.ศ.2409 ราชวงศ์ (เกษ) ได้เกิดความขัดแย้งกับพระยาชัยสุนทร (กิ่ง) เจ้าเมืองกาฬสินธุ์ จึงกราบบังคมทูลขอแยกเมืองไปตั้งอยู่บริเวณบ้านสระบัว ริมน้ำปาวฝั่งตะวันตก (เมืองกมลาไสย) และขอให้ตั้งเมืองสหัสขันธ์ ณ บ้านพันลำ พร้อมขอให้ท้าวแสนเป็นเจ้าเมืองสหัสขันธ์ ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2433 ได้แต่งตั้งท้าวแสนเป็นพระชาชนบาล เจ้าเมืองสหัสขันธ์ให้ขึ้นตรงต่อเมืองกมลาไสย